ฤกษ์มงคลสมรส เป็นฤกษ์ที่เลือก เพื่อทำพิธีเสริมมงคลการครองชีวิตคู่บ่าวสาว ส่งเสริมให้บ่าวสาวรักกันเข้าใจกันอยู่กันจนแก่เฒ่า มีความเจริญก้าวหน้า มีลูกหลานเต็มบ้าน ดูได้จาก ส้ม กล้วย อ้อย ของที่ใช้ในการเตรียมงาน รวมไปถึงของรับไหว้ และพิธีกรรมที่มีความหมายแฝงทุกขั้นตอน ดังนั้น การเลือกวันแต่งงานจะมีความแตกต่างจากการเลือกฤกษ์มงคลปกติ เพราะ ต้องคำนึงถึง ดวงของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ซึ่งจะมีนักษัตร และ ธาตุที่ส่งเสริมต่างกัน ไม่ใช่ส่งเสริม เจ้าบ่าว หรือ เจ้าสาว อย่างเดียว ต้องมองภาพรวม คำนึงถึงพิธีกรรม และ ยังมีข้อจำกัดในการเลือกวันที่สะดวกในการจัดงาน ซึ่งหากได้ฤกษ์ไม่ดีจะรู้ได้ในวันแต่งงาน พิธีกรรมจะติดขัดมีปัญหา
1. ไม่ชงเจ้าบ่าวเจ้าสาว พ่อแม่เจ้าบ่าว พ่อแม่เจ้าสาว
ฤกษ์มงคลตามหลักโหราศาสตร์จีน จะเลือกฤกษ์เดือน หรือ วัน เวลา ที่มีพลังก่อเกิด ธาตุส่งเสริม หลบวันชง เดือนชง ปีชงของผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีมีความจำเป็นที่จะต้องแต่งงานในปีชงของเจ้าบ่าวเจ้าสาว ก็ควรเลือกฤกษ์ เสริมลักษณะซาฮะ เปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี เพราะว่าจะเกิดการชงนั้นจะกระทบต่อความสัมพันธ์กับครอบครัวของคู่บ่าวสาว และในบางกรณีปีชงจะพบปัญหาหยางพิฆาตญาติผู้ใหญ่ ดังนั้น เวลาเลือกฤกษ์ยามจึงต้องมีปีเกิดพ่อแม่บ่าวสาวประกอบเสมอ (เท่าที่มีชีวิตอยู่)
2. ลักษณะส่งเสริมดวงเจ้าบ่าว เจ้าสาว
ฤกษ์มงคลสมรสที่ดีจะมีนักษัตรและธาตุส่งเสริมคู่บ่าวสาว โดยคำนวนจากข้อมูลในดวงจีนของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวร่วมกัน เพื่อจะได้รับพลังเจริญรุ่งเรืองสนับสนุนโชคโอกาส แก้ไขลักษณะการชงในดวงจีนกระตุ้นโชคส่งเสริมการมีลูกหลาน การสร้างครอบครัว
3. ความเป็นศิริมงคล
ฤกษ์วันยามเวลาจะต้องมีความมงคลสอดคล้อง กับ พิธีกรรมเสริมศิริมงคล* เช่น การยกน้ำชา ยกขันหมาก นับสินสอด ปูผ้า ฯลฯ ซึ่งแต่ละพิธีกรรมจะมีเกณฑ์การเลือกที่แตกต่างกันไป
4. เวลาเหมาะสมกับพิธีกรรม
การกำหนดลำดับพิธีให้ได้ช่วงเวลาที่เหมาะสม มีความลงตัว เนื่องจากบางช่วงเวลาไม่ดี จะต้องเลี่ยง ก็จะจัดการเว้นให้มีการเว้นพักรับประทานอาหาร มีจังหวะถ่ายรูป พบปะพูดคุยกับแขก เกิดความสมบูรณ์ลงตัวของพิธีกรรม
หมายเหตุ
การทำพิธีกรรมจะครบเสร็จเมื่อมีการจดทะเบียนสมรส หรือ มีการเข้าหอขึ้นบ้านใหม่ และ เพื่อให้เกิดความมงคลสูงสุด ควรปฏิบัติให้สมบูรณ์ เช่น การปลูกอ้อยในบ้าน การเก็บกระเป๋าเดินทางในตู้เสื้อผ้า เก็บเงินทองก้นถุงเข้าตู้เซฟที่บ้านใหม่ ฯลฯ
เนื่องจากการแต่งงานส่วนมากมักจะผสมผสานพิธีกรรมแบบไทย เช่น การกั้นประตู รดน้ำสัง ดังนั้น จึงต้องคำนึกถึงข้อห้าม ตามหลักโหราศาสตร์ไทยด้วย และหลีกเลี่ยงวันเหล่านี้
1. หลีกเลี่ยงวันอังคาร วันพุธ วันพฤหัส วันเสาร์
2. วันข้างขึ้น หรือ ข้างแรม ๑๑ , ๑๒ ค่ำ
3. หลีกเลี่ยงวันกาลกิณี วันอุปาท์ วันพระ วันเกิดบ่าวสาว ฯลฯ โดยเน้นประเพณีพื้นถิ่น และ ตามความเชื่อของผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติมา ซึ่งคู่บ่าวสาวควรที่จะสอบถามผู้ใหญ่ให้เรียบร้อย และ ควรระบุพิธีกรรมลักษณะงานให้ชัดเจนเพื่อจะได้ฤกษ์ที่เหมาะสม