ตามตำนานเล่าว่า ในสมัยชุนชิว-จั้นกั๋ว ประเทศจีนถูกแบ่งเป็นแคว้นเล็ก ๆ จำนวนมาก แคว้นฉินเป็นแคว้นที่เข้มแข็งที่สุดในขณะนั้น ส่วนแคว้นฉู่เป็นแคว้นที่อ่อนแอและเล็ก ซึ่งมักถูกแคว้นฉินกดขี่ข่มเหง "ชวีหยวน" ซึ่งเป็นขุนนางตงฉิน รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถือเอาประโยชน์ของราษฎรเป็นที่ตั้ง เขาห่วงใยประเทศชาติบ้านเมืองของตนมาก จึงเสนอให้แคว้นฉู่ร่วมมือกับแคว้นฉีเพื่อต่อต้านแคว้นฉิน แต่ก็ถูกขุนนางกังฉินคอยใส่ร้ายป้ายสีต่อองค์ฮ่องเต้เสมอๆ
หลังจากที่ฮ่องเต้องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงหลงเชื่อคำยุยงของเหล่าขุนนางกังฉินพวกนั้น ในที่สุดจึงได้มีพระบรมราชโองการให้เนรเทศชวีหยวนออกจากแคว้นฉู่ไป ชวีหยวนเศร้าโศกเสียใจมาก หลังจากเดินทางรอนแรมมาถึงแม่น้ำเปาะล่อกัง (บางตำราว่าเป็นแม่น้ำแยงซีเกียง) ชวีหยวนจึงได้ตัดสินใจกระโดดน้ำตาย เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกจงรักภักดีต่อประเทศชาติและความคับแค้นใจที่มีต่อสังคม ในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 เมื่อ 278 ปีก่อนคริสต์ศักราช
เมื่อชาวแคว้นฉู่รู้ข่าวการฆ่าตัวตายของชวีหยวน ต่างพากันมายังริมแม่น้ำ ชาวประมงก็ออกพายเรือหาเพื่อหวังว่าจะงมเขาขึ้นมาได้ ในขณะที่ค้นหาศพ บางคนก็นำข้าวปั้น ไข่ต้มที่เตรียมไว้ให้ชวีหยวนโยนลงแม่น้ำ เพื่อหวังว่าปลา ปู กุ้ง หอยในน้ำจะกินอาหารพวกนี้แล้วไม่ไปกัดกินร่างของชวีหยวน จากนั้นทุกปีเมื่อครบรอบวันตายของชวีหยวน ชาวบ้านจะนำเอาอาหารไปโปรยลงแม่น้ำเปาะล่อกัง
เมื่อทำมาได้สองปี ก็มีชาวบ้านผู้หนึ่งฝันเห็นชวีหยวนที่มาในชุดอันสวยงาม และได้กล่าวขอบคุณชาวบ้านที่นำเอาอาหารไปโปรยเพื่อเซ่นไหว้ แต่ชวีหยวนบอกว่าอาหารเหล่านั้นได้ถูกสัตว์น้ำกินเสียจนหมด เนื่องจากบริเวณนั้นมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชวีหยวนจึงแนะนำให้นำอาหารเหล่านั้นห่อด้วยใบไผ่หรือใบจากก่อนนำไปโยนลงน้ำ
ในปีต่อมาชาวบ้านต่างก็ทำตามที่ชวีหยวนแนะนำ ชวีหยวนก็ได้มาเข้าฝันชาวบ้านอีกว่าได้กินมากหน่อย แต่ก็ยังโดนสัตว์น้ำแย่งไปกินได้ ชาวบ้านต้องการให้ชวีหยวนได้กินอาหารที่พวกเขาเซ่นไหว้ไปให้อย่างอิ่มหนำสำราญ จึงได้ถามชวีหยวนว่าควรทำเช่นไรดี จึงได้คำแนะนำว่าเวลาที่จะนำอาหารไปโยนลงแม่น้ำให้ตกแต่งเรือเป็นรูปมังกร เมื่อสัตว์น้ำทั้งหลายได้เห็นก็จะนึกว่าเป็นเครื่องเซ่นของพระยามังกร จะได้ไม่กล้าเข้ามากิน จึงทำให้เป็นที่มาของประเพณีการไหว้ขนมจ้าง (ขนมบ๊ะจ่าง) และประเพณีการแข่งเรือมังกรมาจนถึงปัจจุบัน